โรคเบาหวาน โรคที่ใครก็เสี่ยงจะเป็นได้

โรคเบาหวาน หมายถึง ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติ โดยเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ที่สร้างจากตับอ่อน ส่วนเบตาเซลล์ผิดปกติ

เบาหวานมีกี่ชนิด เราสามารถแบ่งชนิดของเบาหวานได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

  • เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus)

เกิดจากการทำลายเบตาเซลล์ที่ตับอ่อนจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย มักมีอาการรวดเร็วและรุนแรง พบมากในเด็ก จำเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน

  • เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus)

พบได้มากที่สุด มากกว่า 50% ของผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากอาการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) มักจะเกิดจากภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน

  • เบาหวานชนิดอื่นๆ (Other Specific Types Of Diabetes Mellitus)

เป็นกลุ่มอาการเบาหวานที่เป็นผลมาจากโรคหรือความผิดปกติอื่น เช่น โรคที่มีความผิดปกติของบริเวณตับอ่อน เบาหวานที่เกิดภายหลังการผ่าตัดตับอ่อน หรือเบาหวานจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

  • เบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus)

โรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกายจะมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ การมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติจะส่งผลเสียต่อคุณและทารกในครรภ์ โดยโรคเบาหวานชนิดนี้ผู้เป็นจะไม่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์

ใครบ้างเสี่ยงเป็นเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน

  • ภาวะน้ำหนักเกิน หรือภาวะอ้วน โดยสามารถดูจาก

1. ดัชนีมวลกาย หรือค่า BMI (Body Mass Index)

เราสามารถคำนวณค่า BMI ดัชนีมวลกายได้โดย

” น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เซนติเมตร)2 ”

ค่า BMI > 23 หมายถึง คุณมีน้ำหนักเกิน

ค่า BMI > 27.5 หมายถึง คุณอยู่ในภาวะอ้วน

2. รอบเอว

ผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร

ผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร

  • กรรมพันธุ์ มีประวัติครอบครัว ญาติเป็นโรคเบาหวาน
  • อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวาน
  • เป็นเพศชาย
  • มีความดันโลหิตหรือมีน้ำตาลในเลือดสูง

อาการของโรคเบาหวาน

อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะแรก ถ้าน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก จะยังไม่มีการแสดงอาการใดๆ แต่หากมีน้ำตาลในเลือดสูงมาก “อาจมีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ตาพร่ามัว ชาบริเวณมือเท้า แผลหายช้า หรือในบางกรณีอาจเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจเกิดหัวใจวายเฉียบพลันโดยไม่มีอาการเตือนใดๆ มาก่อน”

คุณเป็นเบาหวานหรือไม่?

การตรวจคัดกรอง ควรตรวจเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในการตรวจคัดกรองสามารถทำได้โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะสามารถบ่งบอกว่าเรามีความเสี่ยงเป็นเบาหวานหรือไม่

  • ต้องงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 6 – 8 ชั่วโมง ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดน้ำและอาหาร Fasting Blood Sugar (FBS) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dL เกิน 2 ครั้ง บ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน
  • ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าเวลาใด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 mg/dL บ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน
    อาการของโรคเบาหวาน เช่น มีน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ก็สามารถวินิจฉัยโรคเบาหวานได้เช่นกัน

เบาหวานรักษาอย่างไร

การคุมอาหาร ควรงดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ของหวาน น้ำหวาน ผลไม้รสหวานจัด ข้าว แป้ง ขนมปัง เป็นต้น โดยควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละมื้ออาหาร อาจรับประทาน

  1. คาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ เช่น ข้าวกล้องขนมปังโฮลวีท อาหารจำพวกผักและโปรตีน ชนิดไม่ติดมัน
  2. ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยแนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิค คือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายโดยให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับ 50 – 70% ของชีพจรสูงสุด
    เราสามารถคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดได้ง่ายๆ ดังนี้

220 – อายุ (ปี) = อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (MHR)

3. การใช้ยา หากควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้วยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ แนะนำให้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง โดยยารักษาเบาหวานมีความปลอดภัยสูง ไม่ทำให้ตับ หรือไต เสื่อมลง หากใช้ยาตามแพทย์สั่ง