โรคเบาหวาน หมายถึง ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติ โดยเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ที่สร้างจากตับอ่อน ส่วนเบตาเซลล์ผิดปกติ
เบาหวานมีกี่ชนิด เราสามารถแบ่งชนิดของเบาหวานได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้
- เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus)
เกิดจากการทำลายเบตาเซลล์ที่ตับอ่อนจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย มักมีอาการรวดเร็วและรุนแรง พบมากในเด็ก จำเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน
- เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus)
พบได้มากที่สุด มากกว่า 50% ของผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากอาการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) มักจะเกิดจากภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน
- เบาหวานชนิดอื่นๆ (Other Specific Types Of Diabetes Mellitus)
เป็นกลุ่มอาการเบาหวานที่เป็นผลมาจากโรคหรือความผิดปกติอื่น เช่น โรคที่มีความผิดปกติของบริเวณตับอ่อน เบาหวานที่เกิดภายหลังการผ่าตัดตับอ่อน หรือเบาหวานจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
- เบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus)
โรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกายจะมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ การมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติจะส่งผลเสียต่อคุณและทารกในครรภ์ โดยโรคเบาหวานชนิดนี้ผู้เป็นจะไม่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์
ใครบ้างเสี่ยงเป็นเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน
- ภาวะน้ำหนักเกิน หรือภาวะอ้วน โดยสามารถดูจาก
1. ดัชนีมวลกาย หรือค่า BMI (Body Mass Index)
เราสามารถคำนวณค่า BMI ดัชนีมวลกายได้โดย
” น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เซนติเมตร)2 ”
ค่า BMI > 23 หมายถึง คุณมีน้ำหนักเกิน
ค่า BMI > 27.5 หมายถึง คุณอยู่ในภาวะอ้วน
2. รอบเอว
ผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตร
ผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตร
- กรรมพันธุ์ มีประวัติครอบครัว ญาติเป็นโรคเบาหวาน
- อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวาน
- เป็นเพศชาย
- มีความดันโลหิตหรือมีน้ำตาลในเลือดสูง
อาการของโรคเบาหวาน
อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะแรก ถ้าน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก จะยังไม่มีการแสดงอาการใดๆ แต่หากมีน้ำตาลในเลือดสูงมาก “อาจมีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ตาพร่ามัว ชาบริเวณมือเท้า แผลหายช้า หรือในบางกรณีอาจเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจเกิดหัวใจวายเฉียบพลันโดยไม่มีอาการเตือนใดๆ มาก่อน”
คุณเป็นเบาหวานหรือไม่?
การตรวจคัดกรอง ควรตรวจเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในการตรวจคัดกรองสามารถทำได้โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะสามารถบ่งบอกว่าเรามีความเสี่ยงเป็นเบาหวานหรือไม่
- ต้องงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 6 – 8 ชั่วโมง ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดน้ำและอาหาร Fasting Blood Sugar (FBS) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dL เกิน 2 ครั้ง บ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าเวลาใด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 mg/dL บ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน
อาการของโรคเบาหวาน เช่น มีน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ก็สามารถวินิจฉัยโรคเบาหวานได้เช่นกัน
เบาหวานรักษาอย่างไร
การคุมอาหาร ควรงดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ของหวาน น้ำหวาน ผลไม้รสหวานจัด ข้าว แป้ง ขนมปัง เป็นต้น โดยควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละมื้ออาหาร อาจรับประทาน
- คาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ เช่น ข้าวกล้องขนมปังโฮลวีท อาหารจำพวกผักและโปรตีน ชนิดไม่ติดมัน
- ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยแนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิค คือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายโดยให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับ 50 – 70% ของชีพจรสูงสุด
เราสามารถคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดได้ง่ายๆ ดังนี้
220 – อายุ (ปี) = อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (MHR)
3. การใช้ยา หากควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้วยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ แนะนำให้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง โดยยารักษาเบาหวานมีความปลอดภัยสูง ไม่ทำให้ตับ หรือไต เสื่อมลง หากใช้ยาตามแพทย์สั่ง