โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยมากๆ อีกโรคหนึ่ง และมีสาเหตุการเสียชีวิตมากติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยที่สาเหตุอาจจะมาจากพันธุกรรมก็ได้หรือเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็ได้ ทั้งนี้เราสามารถสังเกตสัญญาณเตือนโดยอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ดีก่อนที่จะมีอันตรายและสายเกินแก้
แพทย์กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยและมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากที่สุดโรคหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วหากผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคนี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะเสี่ยงมีความพิการหลงเหลือตามมา
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองซึ่งอาจจะมาจากพันธุกรรม หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีของคุณก็ได้ ตัวอย่างเช่น
• ความดันโลหิตสูง
• เบาหวาน
• ไขมันในเลือดสูง
• มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
• ขาดการออกกำลังกาย
• น้ำหนักเกิน
• สูบบุหรี่
เป็นต้น
5 สัญญาณอันตรายของ โรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักจะมีอาการอยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องสังเกตให้ดีๆ โดยอาการเตือนที่สำคัญ คือ
1. แขน ขาอ่อนแรงซีกเดียวของร่างกาย
2. สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง
3. ตามองเห็นลดลง 1 หรือทั้ง 2 ข้าง
4. มีปัญหาการเดิน
5. มึนงง
อาการต่างๆ ที่กล่าวมานี้มักเกิดขึ้นแบบฉับพลันไม่ทันตั้งตัว จึงควรที่จะนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ให้ด่วนที่สุดภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อจะรักษาชีวิตไว้และฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด
วิธีลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
2. หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม และไขมันสูง
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินกว่าเกณฑ์ปกติ
5. งดเครื่องดื่มมึนเมา
6. เลี่ยงสูบบุหรี่
7. ตรวจสุขภาพประจำปี
ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญเลยคือการช่วยเหลือตนเองเมื่อป่วยเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือฟื้นฟู เพื่อให้ร่างกายกลับมีสภาพที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงควรรีบเข้ารักษาตัวเอง เพื่อให้สามารถกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้ สำหรับวิธีการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังเข้ารับการรักษาและเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต สิ่งแรกที่จะช่วยทำให้การฟื้นฟูได้ผลมากที่สุด คือ ต้องทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้ป่วยและผู้ดูแลเพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากเป็นการฟื้นฟูผู้ป่วยในระดับที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือฉับพลัน เพื่อลดความพิการหรือป้องกันความพิการที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการโรคอยู่ในระดับที่คนไข้อ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือไม่ หรือกำลังเจ็บป่วยที่กล้ามเนื้อและกระดูกกันแน่ แพทย์จะมีวิธีรักษาเริ่มต้นโดยการซักประวัติและเอกซเรย์สมองร่วมด้วย หากพบว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าวนี้ แพทย์จะทำการดูแลอาการป่วยให้ทรงตัวอยู่สภาพคงที่ไม่เป็นมากกว่าเดิม เพื่อเตรียมพร้อมส่งไปยังศูนย์ฟื้นฟูเพื่อกายภาพบำบัดตามลำดับ
ดังนั้น ประชาชนจึงควรมีความรู้เบื้องต้นในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและการทราบถึงอาการเบื้องต้นเพื่อจะรักษาได้ทันเวลาเพิ่มการเยียวยาอาการให้ดีขึ้น เช่น การให้ยาละลายลิ่มเลือดในภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ และสำหรับการดูแลที่เหมาะสมมาก ๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดในสมองแตกซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิตได้